เมื่อมีคนติดโควิดในคอนโด หมู่บ้าน นิติบุคคลต้องทำอย่างไร?

เมื่อยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับมาสูงขึ้นอีกแล้วครั้ง พวกเราชาวคอนโด และหมู่บ้าน ที่อยู่อาศัยร่วมกันในชุมชน ที่อาจจะต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในหลายๆจุด หากมีลูกบ้านคนใดคนหนึ่งติดเชื้อแล้วละก็ หากไม่มีการบริการจัดการหรือเตรียมการรับมือให้ดีแล้วละก็ ชุมชนของเราก็อาจจะมีความเสี่ยงในการกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อได้

วันนี้เออบันไนซ์ขอนำเสนอ แนวทางการรับมือ เมื่อมีคนติดโควิดในคอนโด หมู่บ้าน สำหรับนิติบุคคล เพื่อช่วยในการดูแลลูกบ้านให้ปลอดภัย ห่างไกลจากโควิด-19 ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ครับ

1. ตรวจสอบ Timeline ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งผลให้ลูกบ้านท่านอื่นทราบ

เมื่อนิติบุคคลได้รับแจ้งจากผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลว่าติดเชื้อโควิท-19 แล้ว จะต้องให้ผู้ป่วยแจ้ง Timeline ย้อนหลัง 14 วันหลังจากวันที่ยืนยันผล และนำมาตรวจสอบว่าได้มีการใช้งานส่วนกลางใด และมีลูกบ้านท่านอื่นๆ อยู่ในช่วง Timeline บ้างหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิด "คลัสเตอร์โควิด" (Covid Cluster) ของคนในชุมชนได้

ตัวอย่งา Timeline ผู้ติดเชื้อโควิด-19

โดยนิติบุคคลสามารถตรวจสอบได้จาก

  • ผู้ป่วยแจ้ง Timeline ตัวเองคราวๆ ว่าวันเวลาใดบ้างที่มีการพักอาศัย เข้า/ออก หรือใช้งานพื้นที่ส่วนกลางบ้าง เพื่อให้นิติบุคคลนำไปเป็นข้อมูลตั้งต้นในการตรวจสอบผู้ที่อาจเกี่ยวข้องต่อไป
  • นำ ID ของ Key Card ของผู้ป่วย มาเช็คในระบบว่าได้เข้าใช้งานส่วนกลางใด ณ วันที่ เวลาใดบ้าง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น ลิฟต์ หรือ ฟิตเนส
  • เมื่อพบข้อมูลการใช้งานส่วนกลางจาก Key Card แล้ว ก็นำมาตรวจสอบว่า ณ วันที่ เวลาดังกล่าว มีลูกบ้านท่านอื่นใช้งานอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ โดยอาจจะนำมาตรวจสอบร่วมกับระบบกล้องวงจรปิดของส่วนกลางนั้นๆ ร่วมด้วย
  • หากพบว่ามีลูกบ้านท่านอื่นที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกับผู้ป่วย ให้จดบันทึกและรีบดำเนินการแจ้งลูกบ้านรายนั้นๆ ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ควรแจ้งเป็นรายบุคคล เพื่อรักษาข้อมูลส่วนบุคคล) ให้ทำการสังเกตุอาการ 14 วัน หรือหากประสงค์จะกักตัวที่บ้านหรือคอนโด ให้ทำบันทึกแยก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกบ้านรายนั้นๆ เช่น จัดเวลาส่งอาหารให้ที่ประตูห้อง เวลาสำหรับรับกำจัดขยะ หรือโทรติดตามอาการเป็นระยะๆ

เมื่อทราบ Timeline และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านทราบ โดยต้องครอบคลุมผู้อยู่อาศัยทั้งหมด ทั้งผู้เช่า เจ้าของกรรมสิทธิ  อาทิ ประกาศผ่าน Application ของคอนโด ช่องทาง Line หรือติดประกาศในลิฟต์ เพื่อให้คนในชุมชนรับทราบข้อมูลที่เป็นทางการ และช่วยกันระมัดระวังตัว อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ในช่วงเวลาที่พบโรคระบาดนี้

2. ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่เสี่ยงสัมผัส

เมื่อทราบว่าผู้ป่วยได้ใช้งานพื้นที่ส่วนกลางใดบ้างแล้ว นิติบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้

ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่เสี่ยงสัมผัส
  • ดำเนินการทำความสะอาดผสมยาฆ่าเชื้อ บริเวณดังกล่าวทันที โดยเฉพาะที่เป็นพื้นที่ปิด และมีจุดเสี่ยงสัมผัสร่วม เช่น ปุ่มลิฟต์ บานประตู ราวจับ ทางเดิน
  • เพิ่มรอบการทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น เช่น ทุก 1 ชั่วโมง หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

3.ติดตามผลกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ 14 วัน

ติดตามผลกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ 14 วัน
  • เมื่อมีกลุ่มเสี่ยงพักอาศัยในหมู่บ้าน คอนโด นิติบุคคลควรสอบถามอาการในช่วงกักตัว 14 วัน และให้ลูกบ้านรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคในท้องถิ่น ตามประกาศควบคุมโรคของจังหวัด
  • แยกคัดกรองความเสี่ยงผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง ให้เฝ้าระวังกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน ตามคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้มีความเสี่ยงระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะหากไม่ช่วยดูแลสอดส่องผู้เสี่ยงติดเชื้อ อาจนำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทวีขึ้นมากมาย หลายคอนโดมีเจ้าหน้าที่คอยส่งอาหารให้ที่ประตูหน้าห้องแก่ผู้ที่กักตัว
  • ผู้ติดเชื้อที่กลับจากโรงพยาบาลแล้วก็ต้องให้กักตัวอยู่ในที่พัก 14 วัน เช่นกัน ระหว่างนี้ควรสอบถามความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การซื้อหาของกินของใช้ รวมถึงธุระอื่นๆ ที่พอจะช่วยเหลือกันได้ตามความเหมาะสม เพื่อลดการเดินทางของผู้ป่วยที่เพิ่งรักษาตัวหาย

4.นิติบุคคลต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของพื้นที่ในจุดต่างๆ ของคอนโด และเข้มงวดเรื่อง Social Distancing ให้มากขึ้น

เข้มงวดเรื่อง Social Distancing
  • คัดกรองผู้เข้าโครงการอย่างเข้มงวด ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคน และจัดทางเข้า-ออกให้เหลือเพียงทางเดียว และลงทะเบียนผู้มาติดต่อ (Visitor) ทุกคน
  • จัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ตามจุดต่างๆ
  • จำกัดการใช้พื้นที่ส่วนกลางที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น จำกัดคนใช้ลิฟต์โดยสาร
  • ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง
  • เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เมื่อมีการใช้พื้นที่ส่วนกลาง
  • สำหรับคอนโด ควรจัดให้มีจุดสำหรับรับ-ส่งอาหารและสิ่งของ ให้อยู่บริเวณที่อากาศถ่ายเท เพื่ออำนวยความสะดวก และเลี่ยงการพบกันของลูกบ้านและผู้ส่งอาหาร (Rider)
  • ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อพัสดุที่มาส่ง ใช้แอปพลิเคชั่นรับพัสดุ เพื่อใช้ QR Code ลดการเซ็นต์รับ
  • รับชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านออนไลน์ ไม่รับเงินสด

5. แยกขยะติดเชื้อ แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้มาจัดเก็บขยะติดเชื้อ

แยกขยะติดเชื้อ

เมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อพักอาศัยอยู่ในคอนโดหรือหมู่บ้าน นิติบุคคล ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะติดเชื้อ โดยให้แยกถุงขยะติดเชื้อ มัดปากถุงให้มิดชิด
  • จัดให้มี ถังขยะติดเชื้อแยกต่างหาก ในแต่ละชั้นของคอนโด หรือจุดทิ้งขยะติดเชื้อในหมู่บ้าน
  • แจ้งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นมาจัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

สรุป

สำหรับการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร เจ้าหน้าที่นิติบุคคล ควรเป็นเสาร์หลักและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยจัดการในสถานการณ์เช่นนี้ ควรมีมีการจัดการที่ถูกต้องตามหลักการของกระทรวงสาธารณะสุข เป็นแบบแผน และมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โดยท่านสามารถนำหลักการทั้ง 5 ข้อด้านบนเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ลูกบ้านในชุมชนของท่านปลอดภัย และห่างไกลจากโควิดได้อีกด้วย

สำหรับครั้งหน้า พวกเราเออบันไนซ์จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ